การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
แม้ว่าจะพยายามเขียนกฎหมายให้มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีพร้อมกับกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยบรรจุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญที่ได้มีการปฏิบัติตามแล้ว
แต่เห็นผลไม่มากนักตามที่ผมได้เขียนถึงในตอนที่แล้วผมคิดว่าประเด็นสำคัญไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญให้เกิดการพัฒนาประเทศ แต่จะต้องตั้งหลักให้ถูกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นจะทำโดยกรอบความคิดแบบไหนจึงจะถูกต้อง
ที่ผ่านมาแนวคิดที่ถูกนำเสนอมากที่สุดคือการกล่าวว่าจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยดูจากเครื่องยนต์ 4 เครื่องคือ
การบริโภค (C) การลงทุน (I) การกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล (G-T) การใช้จ่ายของรัฐและนโยบายภาษีและการส่งออก (X-M โดย X คือการส่งออกที่ต้องลบด้วยการนำเข้าเพื่อให้ได้การส่งออกสุทธิ)
โดยจะกล่าวกันว่าเมื่อเครื่องยนต์ทั้ง 4 เครื่องจุดติดก็จะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้เพราะจีดีพี (หรือรายได้ของประชาชน) จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสมการดังนี้ Y=C+I+G-T+X-M
แนวคิดนี้เป็นทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคของ John Maynard Keynes ที่แต่งหนังสือชื่อว่า The General Theory of Employment, Interest and Money เมื่อปี 1936
แต่จะสังเกตว่า Keynes ไม่ได้บอกเลยว่าทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวจะแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว (เพราะต้องการตอบโจทย์เฉพาะเรื่องของ Employment, Interest และ Money)
กล่าวคือทฤษฎีเครื่องยนต์ 4 เครื่องนั้นเป็นทฤษฎีเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นของเศรษฐกิจ ซึ่งแตกต่างจากปัญหาการพัฒนาที่เชื่องช้าของไทยที่ต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องและยั่งยืน
ทฤษฎีของ Keynes นั้นกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจในบางกรณีคือ เมื่ออุปสงค์ต่ำกว่าอุปทาน (aggregate demand falls short of aggregate supply)